นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ พร้อมตัวแทนพนักงาน ขึ้นรับรางวัล Thailand Kaizen Award 2024 จากนายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยเอสเอสไอได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภท Genba Kaizen จำนวน 1 ผลงาน และประกาศนียบัตร ประเภท Kaizen Suggestion System จำนวน 2 ผลงาน ซึ่งการประกวดฯ จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Process Improvement) ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ และยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับองค์กรและบุคลากรที่มีผลงาน Kaizen ดีเด่น
เอสเอสไอดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ทั่วทั้งองค์กร เพื่อขจัดความสูญเปล่า เพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร โดยกำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารงานไคเซ็น ดังนี้ 1. ให้ความรู้ Kaizen แก่พนักงานทั่วทั้งองค์กร 2. สนับสนุนการทำ Kaizen ให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง 3. สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนางานด้วย Kaizen และ 4. สร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กรจากผลงาน Kaizen อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เอสเอสไอมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนระบบการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนให้คงความมีประสิทธิผลสูงสุด และเพิ่มขีดความสามารถด้านการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Thailand Kaizen Award 2024 ได้แก่
1. ได้รับรางวัลเหรียญเงิน” ประเภท Genba Kaizen
ผลงาน “เครื่องทำความสะอาดผิวเหล็กม้วน” (Cleaning Station) ของกลุ่มขัดให้เงา เอาให้….วั๊บ !!! โดยนายนวังกูล สัมฤทธิ์ น.ส.ศลาฆนันท์ สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา และนายวัชรากรณ์ ชุมแสง เป็นผลงานเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือในการทำความสะอาดผิวรอบนอก coil ที่เรียกว่า Cleaning Station สามารถทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ติดผิวนอกก่อนเข้าสู่กระบวนการปรับผิวเรียบ ช่วยลดการเกิดของเสียคิดเป็นมูลค่า 2.9 ล้านบาทต่อปี
2. ได้รับรางวัล “Certificate” ประเภท Kaizen Suggestion System
ผลงาน “ลดลดการเสียของเครน หมายเลข 46″ (Breakdown Grab Tong OHC No.46) โดยนายสุทธิรักษ์ พิมพ์ทอง เป็นผลงานเกี่ยวกับการปรับปรุงย้ายตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์เครน (crane) จาก Limit switch แล้วเปลี่ยนมาใช้ Proximity sensor ช่วยลดปัญหาเครนเสียเป็นศูนย์ ลดค่าใช้จ่ายงานซ่อมบำรุงได้ 60,000 บาท ลดเวลาการซ่อมบำรุงได้ 3 ชั่วโมงต่อครั้ง
3. ได้รับรางวัล “Certificate” ประเภท Kaizen Suggestion System
ผลงาน “โปรแกรมดึงและคัดกรองข้อมูลการผลิต” (Program Query Data Deviation) โดยนายกิตติศักดิ์ ปานเล็ก เป็นผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมสำหรับรวมรวบข้อมูลแทนการใช้คน พร้อมทั้งสร้างแพลทฟอร์มรายงานให้อัตโนมัติ ลดระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลจัดทำรายงานจาก 180 นาทีเหลือ 5 นาที และช่วยป้องกันความผิดพลาดในการประเมินผลด้านคุณภาพ ตามหลักทางสถิติที่กำหนดไว้ และลดค่าใช้จ่ายในการทำงานล่วงเวลาได้ถึง 144,000 บาทต่อปี
“Innovate • Tomorrow”