บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTECH) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ผลิตต้นแบบตู้เพาะเห็ดควบคุมอุณหภูมิ แบบโมดูลาร์ หรือ “Modular Farm” ซึ่งเป็นระบบเกษตรสมัยใหม่ที่ผสานเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อม เข้ากับการออกแบบโมดูลาร์ ช่วยให้การเพาะปลูกเป็นไปได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ตามแนวส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรโดยเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น) รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่อนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืน หรือ Smart Agriculture Industry (SAI)
ต้นแบบตู้เพาะเห็ดควบคุมอุณหภูมินี้ นับเป็นนวัตกรรมและโซลูชั่นทางธุรกิจของเอสเอสไอ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเหล็กซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยนำเหล็กมาเป็นโครงสร้างหลักของตู้เพาะเห็ด มีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 3 เมตร โดยภายในตู้โรงเรือนมีการแบ่งสัดส่วนห้องเพื่อใช้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จำนวน 4 ห้อง ได้แก่
1) ห้องบัฟเฟอร์ (Buffer room) เป็นห้องที่มีอินเตอร์ล็อคอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยป้องกันมลพิษจากพื้นที่สะอาดจากพื้นที่ที่ไม่สะอาด และป้องกันไม่ให้กระแสลมในบริเวณที่ไม่สะอาดเข้าสู่บริเวณที่สะอาดโดยตรง
2) ห้องเขี่ยเชื้อ และเพาะเชื้อ เป็นห้องที่มีอุณภูมิทำงานปกติ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส มีระบบแสงสว่างภายในตู้โรงเรือนสำหรับการทำงาน และไม่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นภายใน
3) ห้องบ่มเชื้อ ห้องนี้ควบคุมอุณหภูมิ 23-25 องศาเซลเซียส และสามารถระบายอากาศได้ดี ควบคุมกลิ่นจากเส้นใยที่บ่มภายในห้องด้วยเครื่องฟอกอากาศ และไม่มีการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
4) ห้องเปิดดอก ควบคุมแสงสว่างให้ไม่เกิน 500 – 1,000 ลักซ์ (Lux) อุณหภูมิ 16-19 องศาเซลเซียส คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระหว่างเปิดดอกไม่เกิน 1,000 ส่วนต่อล้าน (Parts per million: ppm) โดยความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %RH (Relative Humidity) และมีระบบพ่นหมอกแบบอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic)
ลักษณะเด่นของฟาร์มแบบโมดูลาร์ โครงสร้างเหล็ก ประกอบไปด้วย
1) โครงสร้างแบบแยกส่วน (Modular Design) สามารถเพิ่มหรือลดขนาดของฟาร์มได้ง่าย ขนย้ายและติดตั้งสะดวก
2) การควบคุมสภาพแวดล้อม ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสง และสารอาหารได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศและโรคพืช
3) การประหยัดพื้นที่ เหมาะสำหรับชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีพื้นที่จำกัด เช่น บนดาดฟ้า โรงเรือน หรือคอนเทนเนอร์ เน้นการปลูกแนวตั้ง (Vertical Farming) เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่
4) ความยั่งยืน (Sustainability) ใช้น้ำน้อยกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม (เช่น ระบบไฮโดรโปนิกส์หรือแอโรโปนิกส์) ลดการใช้สารเคมีและของเสีย
สำหรับโรงเรือนเกษตรโครงสร้างเหล็กแบบโมดูลาร์ หรือ “Modular Farm” นี้ ถูกนำไปจัดแสดงในงาน FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เมื่อวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก
หากท่านใดสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเรืองฤทธิ์ กองธรรม หัวหน้าสำนักธุรกิจโซลูชั่นอาคารเกษตรกรรม “เอสเอสไอ” (RoengritK@ssi-steel.com)
“Modular Farm” คืออนาคตของเกษตรยั่งยืน เพิ่มผลผลิต ช่วยลดคาร์บอนและลดต้นทุน
Innovate • Tomorrow